วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning Log 10 นอกห้องเรียน


Learning Log 10
นอกห้องเรียน
                      การเรียนรู้นอกห้องเรียนในครั้งนี้  ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการแปลซึ่งได้ศึกษารูปแบบ/ชนิด/ประเภทของการแปล หลักการแปล กระบวนการ/ขั้นตอนการแปล และคุณสมบัติของนักแปลที่ดี ในส่วนของการฝึกทักษะของดิฉันนั้นดิฉันได้ฝึกทักษะการอ่านและการแปลที่ถูกต้อง ในการศึกษาเรื่องการแปลนอกห้องเรียนนี้ ทำให้ดิฉันสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการเรียนในห้องเรียนในวิชาการแปลได้อย่างดี การแปลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจำเป็นต้องถ่ายทอดข้อมูลมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่นำมาถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆมากที่สุดในโลกโดยเฉพาะการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย   เพราะแหล่งความรู้สมัยใหม่มักเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางการสื่อสารต่างๆล้วนให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรื่องการแปลดังประเด็นต่อไปนี้

                     ประเด็นแรกในการศึกษาการแปลนั้นคือ  รูปแบบ/ชนิด/ประเภทของการแปล รูปแบบของการแปล อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1. การแปลตามรูปของภาษา (Form) หรือ การแปลตรงตัว/การแปลตามตัวอักษร (LiteralTranslation) เป็นการแปลที่พยายามรักษาความหมายและโครงสร้างของต้นฉบับไว้มากที่สุด มุ่งความถูกต้องแม่นยำเป็นหลัก แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง (Structure) และการใช้คำเพื่อให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษาของภาษาฉบับแปล 2. การแปลตามความหมาย (Meaning) หรือ การแปลสรุปความ (Free Translation) เป็นการแปลที่ไม่ได้มุ่งรักษาโครงสร้าง ตามความหมายหรือรูปแบบของต้นฉบับอย่างเคร่งครัด มีการโยกย้ายขยายความ หรือตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงรูปคำหรือไวยากรณ์ การแปลลักษณะนี้นิยมใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรักษาความถูกต้องของต้นฉบับ เป็นการแปลที่ใช้ในสื่อมวลชนทุกประเภทโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิง
                     ประเด็นที่สองคือ หลักการแปล / ลักษณะของภาษาในงานแปลที่ดีการแปลให้ได้ทั้งความถูกต้องและสำนวนที่ไพเราะ อาจยึดหลักการแปลง่าย ๆ 4 ประการ ดังนี้ 1. มีความชัดเจน คือเป็นภาษาที่มีลักษณะกระชับ ไม่ใช้คำที่ไม่จำเป็น รูปประโยคควรเป็นประโยคสั้น ๆ หลีกเลี่ยงโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อน มีการใช้ข้อความที่ถ่ายทอดความคิดได้แจ่มแจ้งเช่น ประโยคเดียวแสดงความคิดเดียว ไม่กำกวมหรือชวนให้ตีความได้หลายแง่หลายมุม 2. ใช้ภาษาได้เหมาะสม ผู้แปลต้องเลือกใช้ลีลาการเขียนให้สอดคล้องกับลักษณะของเรื่องที่จะแปล เช่น การแปลนวนิยายอาจใช้สำนวนให้เกิดภาพพจน์ การแปลงานด้านกฎหมายหรือการแพทย์ต้องใช้ศัพท์เฉพาะ และลีลาการเขียนที่สั้น ๆ ไม่ใช้คำหรูหราหรือสำนวนอ้อมค้อม 3. ใช้ภาษาเรียบง่าย ใช้ภาษาที่เรียบง่ายและสัมพันธ์กับความคิดที่กระจ่างแจ้งและตรงตามต้นฉบับ 4. มีความสมเหตุสมผล ในแต่ละภาษา มีความสมเหตุสมผลต่างกัน ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการแปลต้องมีความสมเหตุสมผลเท่า ๆ กับภาษาต้นฉบับ
                     และประเด็นต่อมาในการศึกษาการแปล คือ กระบวนการ / ขั้นตอนการแปล (Steps in Translation)เพื่อให้ได้ผลงานที่ดี ตรงกับความต้องการ การแปลควรดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้ 1. กำหนดวิธีการแปล เมื่อได้งานที่จะแปล ให้กำหนดวิธีการแปลที่เหมาะกับเนื้อหานั้นให้มากที่สุด ถ้าวิธีการแปลไม่เหมาะสมกับงาน อาจได้ผลงานไม่ดี หรือไม่ตรงกับความต้องการ 2. ถ่ายทอดเป็นประโยคพื้นฐาน การถ่ายทอดเป็นประโยคพื้นฐานจะทำให้แปลง่ายและเข้าใจง่าย โดยผู้แปลต้องทำความเข้าใจต้นฉบับเป็นอย่างดี สามารถแยกออกเป็นประโยคสั้นๆได้ 3. เรียบเรียงประโยคใหม่ เมื่อได้ประโยคพื้นฐานแล้ว ก็ดัดแปลง/ตัด/ต่อเติมเพื่อให้ได้ประโยคที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้ภาษาที่สละสลวย เหมาะสมกับประเภทของงาน 4.ปรับปรุงแก้ไข สำรวจผลงานอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงแก้ไขดัดแปลงจนกว่าจะเป็นไปตามความต้องการ
                     สำหรับประเด็นสุดท้าย เป็นประเด็นที่สำคัญในการแปลคือ นักแปลที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1. ผู้แปลต้องเข้าใจนัย (sense) และความหมาย (meaning) ของผู้เขียนต้นฉบับเป็นอย่างดีว่าผู้เขียนมีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการจะให้อะไรกับผู้อ่าน เพื่อจะได้ถ่ายทอดจุดประสงค์นั้น ๆ ไปยังผู้อ่านฉบับแปลได้ถูกต้อง 2. ผู้แปลต้องมีความรู้ทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาฉบับแปลอย่างดีเยี่ยม เพื่อจะให้แปลได้อย่างถูกต้อง 3. ผู้แปลควรพยายามเลี่ยงการแปลคำต่อคำอย่างที่สุด มิฉะนั้นจะทำให้ผู้อ่านฉบับแปลไม่สามารถเข้าใจฉบับแปลได้ 4. ผู้แปลควรใช้รูปแบบของภาษาที่เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และใช้กันทั่วไป ไม่ใช่คิดคำสแลงใหม่ ๆ ขึ้น หรือใช้คำที่ไม่สุภาพไม่เป็นที่นิยม 5. ผู้แปลต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่เหมาะสม ให้ถูกต้องกับความหมายตามต้นฉบับและรักษาบรรยากาศ (tone) ของต้นฉบับไว้
                     หลังจากที่ได้เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับการแปลแล้วนั้น ในประเด็นต่อไปก็จะเป็นการฝึกทักษะของดิฉัน ซึ่งในการฝึกทักษะของดิฉันครั้งนี้ ดิฉันได้ฝึก 2 ทักษะคือ ทักษะการอ่านและการแปล ซึ่งทักษะแรกก็จะเป็นทักษะการอ่านโดยดิฉันได้เลือกอ่านบทความเรื่อง Amelia Mary Earhart ในการฝึกอ่านนั้น ดิฉันได้ฝึกอ่านออกเสียงให้ถูกต้องและฝึกใช้สำเนียงภาษาอังกฤษตามเจ้าของภาษาให้ได้คล่องแคล่วและได้ฝึกการอ่านเป็นคำ พยางค์ในประโยค โดยดิฉันได้ตรวจสอบความถูกต้องจากดิกชั่นนารีในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านข้อความหรือคำศัพท์ได้และเป็นเสียงที่มาจากสำเนียงของชาวต่างชาติโดยตรง ในการฝึกทักษะการอ่านครั้งนี้ดิฉันยังได้รู้คำศัพท์ได้ง่ายขึ้นโดยนึกคำจากบริบทของเนื้อเรื่องที่อ่าน
                     ในส่วนของการฝึกทักษะที่สองนั้น ดิฉันได้ฝึกทักษะการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดยได้ต่อยอดการฝึกจากการฝึกทักษะการอ่านและเมื่อดิฉันได้ฝึกอ่านแล้ว ดิฉันก็ได้ฝึกแปลจากเรื่อง Amelia Mary Earhart ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการฝึกทักษะการอ่าน ตัวอย่างการแปลเช่น Amelia Mary Earhart (1897-1937) was first American woman who flew across the Atlantic. อเมเลีย แมรี เอียฮาร์ท (1897-1937) เป็นผู้หญิงชาวอเมริกันคนแรก ที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก In 1920, flying was dangerous and people didn’t think it was an activity for women. But Amelia had flying lessons. And a year later she broke her first record. She flew up to 14,000 feet. In 1935, when she was 38, she became the first person to fly alone across the Pacific. ในปี 1920 การบินเป็นเรื่องอันตราย และผู้คนไม่คิดว่าเป็นกิจกรรมสำหรับผู้หญิง และ อเมเลียได้เข้าเรียนการบิน หลังจากนั้น 1 ปี เธอทำลายสถิติครั้งแรกของเธอ เธอบินขึ้นสูงถึง 14,000 ฟิตและในปี 1935 เมื่อเธออายุ 38 ปี เธอกลายเป็นคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ในการตรวจสอบความถูกต้องนั้นดิฉันได้ตรวจสอบจากคำแปลของเว็บไซต์ซึ่งจะเป็นบทความพร้อมคำแปล เพื่อได้ตรวจสอบความถูกต้องในการแปลของดิฉัน
                      จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนในครั้งนี้ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแปล ซึ่งในการศึกษานั้นก็จะมีประเด็นให้ศึกษาอยู่ 4 ประเด็นคือ 1.รูปแบบ/ชนิด/ประเภทของการแปล 2.หลักการแปล 3.กระบวนการ/ขั้นตอนในการแปล 4.คุณสมบัติของนักแปลที่ดี ในส่วนของการฝึกทักษะนั้น ดิฉันได้ฝึก 2 ทักษะด้วยกันคือ ทักษะการอ่านและทักษะการแปล สำหรับการแปลนั้นผู้แปลต้องเข้าใจภาษาทั้งสองเป้นอย่างดี คือทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาฉบับ ต้องมีความรู้และภูมิหลังในเรื่องที่จะแปลพอสมควร ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างดี เพื่อจะได้ถ่ายทอดความคิดของผู้เขียนต้นฉบับให้ผู้อ่านฉบับแปลรู้เรื่องเข้าใจและอ่านได้อย่างมีอรรถรส


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น